RSS

พฤติกรรมเด็กติดเกม และ ผลกระทบการเล่นเกม

พฤติกรรมเด็กติดเกม และ ผลกระทบการเล่นเกม

การเล่นเกมส่งผลต่อเด็กอย่างไรบ้าง ?
            จริงๆแล้วการเล่นเกมอาจส่งผลดีได้หลายอย่าง เช่น ได้ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน คลายเครียด ฝึกทักษะ สมาธิ การตัดสินใจ การทำงานของกล้ามเนื้อ และการประสานกันระหว่างมือกับตา แต่ถ้าหากเด็กหมกมุ่นและใช้เวลาในการเล่นมากจนเกินไปก็สามารถก่อให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรงตามมามากมายได้เช่นกัน แต่มีข้อเสียคือเด็กและวัยรุ่นจำนวนมาก ที่ติดเกมจะหมกมุ่นกับการเล่นเกมอย่างมากจนส่งผลกระทบต่อหน้าที่ความรับผิดชอบในการเรียน ผลการเรียนตกลง อดอาหารหรืออดนอนจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เลิกทำกิจกรรมอื่นๆที่เคยชอบ และอาจจะมีปัญหาพฤติกรรมอื่นๆตามมา เช่น ต้องพูดโกหก ขโมยเงิน หนีเรียน หนีออกจากบ้าน และการเล่นจนกลายเป็นพนัน เป็นต้น

เมื่อไรจึงจะถือว่าเด็กติดเกมแล้ว ?
            ปัญหาการติดเกมคอมพิวเตอร์เป็นปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ จึงยังไม่เกณฑ์วินิจฉัยที่เป็นมาตรฐาน เด็กที่ติดเกมมักมีพฤติกรรมคล้ายกับผู้ป่วยติดสารเสพติด และผู้ป่วยติดการพนัน คือ
มีความรู้สึกเพลิดเพลินใจในเวลาที่ได้เล่นเกม
มีความพึงพอใจเมื่อได้รับชัยชนะในการเล่นเกม และต้องการชัยชนะเพิ่มขึ้นอีกจึงจะได้ความพอใจเท่าเดิม
มักใช้เวลาในการเล่นเกมนานจนเกินกว่าที่ตั้งใจในการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ เมื่อบรรลุเป้าหมายแล้วก็จะมีความต้องการเล่นในระดับที่สูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ จึงมีความต้องการใช้เวลาในการเล่นเกมมากขึ้นเรื่อยๆ
รู้สึกหงุดหงิดกระวนกระวาย หรือมีอาการทางกายจากความเครียดเมื่อถูกขัดขวางไม่ให้เล่นเกม
มีการดิ้นรนหรือพยายามอย่างมากเพื่อให้ได้เล่นเกม
มีความต้องการเล่นเกมมากขึ้นในเวลาที่รู้สึกเครียด และเล่นเกมเพื่อหลบเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหา
มีความคิดหมกมุ่นกับการเล่นเกมอย่างมาก คือหมกมุ่นคิดเกี่ยวกับเกมที่เล่นผ่านมาและคิดวางแผนเพื่อเอาชนะในการเล่นเกมครั้งต่อไป
มีความต้องการเล่นเกมตลอดเวลาจนมีผลกระทบต่อตนเองหลายด้าน เช่น การเรียน สุขภาพ ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว และสังคม เป็นต้น
หากมีความพยายามที่จะลดหรือเลิกเล่นเกมก็ไม่สามารถควบคุมตนเองให้หยุดเล่นได้ ทั้งๆที่ทราบดีว่ามีผลกระทบต่อตนเองอย่างมาก

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เด็กติดเกมได้บ้าง ?
          ปัจจัยทางชีวภาพ
               น่าจะมีความสัมพันธ์กับวงจรในสมองซึ่งก่อให้เกิดความสุขและเสพติด ( brain reward circuit )คล้ายคลึงกับการติดสารเสพติด

          ปัจจัยทางจิตสังคม
          1. เกม เกมคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันมีเครือข่ายกว้างขวางและเข้าถึงง่ายมากขึ้น ประกอบกับคุณสมบัติในการตอบสนองความต้องการทางจิตใจของเด็ก ได้แก่ ความสนุกสนาน ความรู้สึกประสบความสำเร็จ ความตื่นเต้นเร้าใจ และการระบายความก้าวร้าว เป็นต้น การเล่นเกมมักจะมีความยากขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดความท้าทาย โดยผู้เล่นทุกคนมีโอกาสชนะหรือประสบความสำเร็จมากขึ้นจากการเล่นซ้ำๆ และมักจะได้รับรางวัลซึ่งเป็นแรงเสริมด้านบวกทันทีเมื่อได้รับชัยชนะ เด็กจึงเกิดความรู้สึกพึงพอใจที่ตนเองก็สามารถเอาชนะ หรือประสบความสำเร็จได้ เด็กและวัยรุ่นที่มีความนับถือตนเองต่ำจากการที่ไม่ค่อยได้รับความสำเร็จจากกิจกรรมอื่นๆในโลกความเป็นจริง มักจะมีความสนุกสนานและพึงพอใจกับความสำเร็จในเกมจนไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะเด็กที่ขาดการฝึกระเบียบวินัยที่เหมาะสมมาก่อน

เกมคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันได้แก่เกมออนไลน์ที่มีลักษณะเป็นการสวมบทบาทสมมติในเกมโดยผู้เล่นหลายๆคนโดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตนจริงๆของผู้เล่น จึงสามารถตอบสนองความต้องการทางจิตใจและสังคม ซึ่งได้แก่ ความรู้สึกมีกลุ่มเพื่อนและได้รับการยอมรับแก่เด็กได้ เด็กสามารถพูดคุยกับเพื่อนได้ในเรื่องเกม

          2. ครอบครัว ครอบครัวของเด็กติดเกม ผู้ปกครองมักจะไม่ได้มีการฝึกวินัยให้ลูกอย่างเหมาะสมตั้งแต่วัยเด็ก โดยอาจเกิดเนื่องจากขาดทักษะในการฝึกวินัย ไม่มีเวลา หรือไม่เห็นความสำคัญเพียงพอ ในบางครอบครัวผู้ปกครองไม่สามารถติดตามพฤติกรรมของลูกได้อย่างเหมาะสม บางครอบครัวพ่อแม่ไม่ค่อยมีความใกล้ชิดและความผูกพันทางอารมณ์กับลูก บางครอบครัวเด็กต้องแบกรับความเครียดจากความคาดหวังของพ่อแม่ มีปัญหาในการสื่อสารกันในครอบครัว หรือมีความขัดแย้งกันเสมอ เด็กจึงหาทางออกด้วยการเล่นเกมคอมพิวเตอร์

          3. สังคม ในปัจจุบันสังคมมีค่านิยมสนับสนุนให้เด็กใช้คอมพิวเตอร์เพื่อดูเป็นเด็กฉลาด ทันสัมย โดยอาจจะยังไม่ได้ตระหนักถึงผลดี ผลเสียของเทคโนโลยีมากเพียงพอ และอาจจะยังไม่ได้เตรียมความพร้อมเด็กให้พร้อมสำหรบการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมเสียก่อน

มีปัญหาหรือโรคทางจิตเวชใดบ้างที่มักพบร่วมกับการติดเกม ?
           เด็กที่ติดเกมมักจะมีปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมอย่างอื่นร่วมด้วย ที่พบได้บ่อยได้แก่ โรคสมาธิสั้น และปัญหาทางอารมณ์เช่น โรคซึมเศร้า ยังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาและมีรายงานความสัมพันธ์ระหว่างการติดเกมและโรคทางจิตเวชที่แน่นอนในปัจจุบัน

ที่มา: http://www.cumentalhealth.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538719524

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • RSS